วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วิธีเซ็นรับรองสำเนาเอกสารถูกต้องที่ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

มาดูวิธีการเซ็นรับรองสำเนาเอกสารถูกต้องที่ปลอดภัยไม่ไปตกในมือโจรมิจฉาชีพ

จากรายการข่าวในเนชั่นทีวีและการโพสเนื้อหาบนFacebookที่ผมได้เจอในวันเดียวกันเมื่อราวปลายเดือนมกราคม 2556 ทำให้ผมอยากเอาเรื่องนี้มาเผยแพร่ต่อ เพราะหลายคนยังไม่ระวังและรอบครอบในเรื่องนี้ เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพทำเรื่องให้คุณเดือดร้อนได้ตลอดเวลา บางคนเป็นหนี้เป็นสินโดยไม่รู้ตัว มีบิลมาเก็บเงินค่าโทรศัพท์เป็นหลักแสนบ้าง ตกเป็นหนี้เงินกู้บ้าง กลายเป็นผู้ค้ำประกันบ้าง ก็เพราะการเซ็นสำเนาถูกต้องลงเอกสารแบบไม่รอบครอบนั่นเอง
ลองมาอ่านวิธีรับรองสำเนาถูกต้องของเอกสารที่ถูกวิธีและปลอดภัยจากมิจฉาชีพกันดีกว่า

วิธีเซ็นรับรองสำเนาเอกสารถูกต้องที่ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

การขีดคร่อมเอกสารเมื่อต้องใช้ประกอบเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน หรือหน่วยงานอิสระอย่างอื่น เช่น การสมัครงานกับบริษัทเอกชน การยื่นคำร้องเพื่อขอรับบริการจากภาครัฐ หรือการยื่นคำขอสมัครใช้บริการของภาคเอกชน หากเจ้าของสำเนาเอกสารมิได้ระบุวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประกอบเพื่อเป็นหลักฐานให้ถูกต้องเรียบร้อย ก็อาจถูกมิจฉาชีพนำสำเนาเอกสารดังกล่าวไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดผลร้ายกับเจ้าของสำเนาเอกสารเอง อันอาจทำให้บางครั้งเจ้าของสำเนาเอกสารต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความทั้งทางแพ่งและทางอาญาโดยไม่รู้ตัว เช่น การนำไปใช้ในกรณีขอเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดือน หรือการทำบัตรเครดิตต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การขีดคร่อม และเขียนข้อความกำกับบนสำเนาเอกสารนั้น มิได้มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ แต่เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้มิจฉาชีพ นำสำเนาเอกสารนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่บางครั้งการขีดคร่อมเอกสารเพื่อนำไปใช้ประกอบเป็นหลักฐาน หากกระทำไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้สำเนาเอกสารฉบับนั้น ไม่สามารถใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หรืออาจกลายเป็นลักษณะของ การขีดฆ่าเอกสารทิ้งเสีย

ดังนั้น หลักของการขีดคร่อมเอกสารที่ถูกวิธี ควรปฏิบัติ ดังนี้
1. ควรเขียนไว้บริเวณที่ยากแก่การแก้ไข
2. ขีดเส้นทึบยาวทับสำเนาเอกสารเพียงเส้นเดียว
3. ระบุวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ให้ชัดเจนเหนือเส้นตามข้อ 2
4. ระบุวันเดือนปี
5. รับรองสำเนาถูกต้อง
6. ลงลายมือชื่อทั้งตัวบรรจง และลายเซ็นชื่อ
7. ไม่ขีดเส้นเป็นแบบตาหมากรุก ขีดเส้นทึบยาวสองเส้นขนานกัน หรือขีดกากบาท
8. ไม่เขียนตัวหนังสือทับบริเวณสาระสำคัญของสำเนาเอกสาร
9. ต้องใช้ปากกาหมึกสีดำเท่านั้น ถึงจะปลอดภัยที่สุด เพราะ เครื่องถ่ายเอกสาร บางเครื่อง สามารถถ่ายเอกสารโดยดึงหมึกสีน้ำเงินออก เหลือใช้เฉพาะข้อความของบัตรประชาชน แล้วทำให้มิจฉาชีพ เซ็นเอกสารบัตรประชาชนนั้น แทนเราได้เลย

ระวังโดนล้วงความลับโดนปล้นเงินบนโทรศัพท์มือถือ ถ้าคุณมีโทรศัพท์มือถือ เรื่องนี้ก็ควรเข้าไปอ่าน
ด้วยความห่วงใย JBTจึงบอกต่อ
วิธีเซ็นรับรองสำเนาเอกสารถูกต้องที่ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ